ทุนพัฒนาองค์ความรู้ใหม่เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมเป้าหมาย
หลักการและเหตุผล
ด้วย มหาวิทยาลัยได้กำหนดแผนการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านพลังงาน ด้านอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ ด้านสาธารณสุข สุขภาพและเทคโนโลยีทางการแพทย์ ด้านเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม ด้านดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกล จึงได้จัดสรรเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นทุนพัฒนาองค์ความรู้ใหม่เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยตั้งเป้าตัวชี้วัดจำนวนบทความวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการซึ่งอยู่ในฐานข้อมูล Web of Science จำนวนเพิ่มขึ้น 200 บทความ ภายในปี พ.ศ. 2564 เพื่อติดอันดับมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ/มหาวิทยาลัยโลก นอกจากนี้ ผลงานวิจัยที่เป็นองค์ความรู้ใหม่เหล่านี้ ยังสามารถนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนางานวิจัยในระดับอุตสาหกรรมต่อไป และขณะเดียวกัน ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของบุคลากรสายวิชาการ และสายสนับสนุนวิชาการ ส่งผลให้เกิดกลุ่มวิจัยที่เข้มแข็ง เกิดการบูรณาการการทำวิจัยเข้าเป็นส่วนหนึ่งในวิชาชีพและการปฏิบัติงาน
คุณสมบัติของหัวหน้าโครงการ
1 เป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย หรืออาจารย์พิเศษที่มีสัญญาจ้าง 9 เดือนขึ้นไป และไม่อยู่ในระหว่างการได้รับอนุมัติการลาศึกษาต่อ ทั้งกรณีการลาศึกษาต่อบางส่วนและการลาศึกษาต่อเต็มเวลา
2 เคยมีบทความวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการซึ่งอยู่ในฐานข้อมูล Science Citation Index/Science Citation Index Expanded (SCI) โดยเป็นชื่อแรก (First Author) หรือเป็นชื่อผู้เขียนหลัก (Corresponding Author)
3 หน่วยงานต้นสังกัดเห็นชอบและอนุมัติการดำเนินงานวิจัยตลอดโครงการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้
4 ไม่เป็นผู้ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากแหล่งทุนอื่นๆ เพื่อดำเนินงานวิจัยนี้
รูปแบบการให้ทุน
ทุนพัฒนาองค์ความรู้ใหม่เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นการให้ทุนวิจัยแก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยเพื่อดำเนินโครงการวิจัยที่สามารถตอบสนองอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านต่างๆ โดยกำหนดระดับวงเงินทุนวิจัยและผลลัพธ์ ดังนี้
รูปแบบที่ 1 ทุนละไม่เกิน 150,000 บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ต้องตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล Science Citation Index/Science Citation Index Expanded (SCI) จำนวน 1 เรื่อง
รูปแบบที่ 2 ทุนละไม่เกิน 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน) ต้องตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล Science Citation Index/Science Citation Index Expanded (SCI) จำนวน 2 เรื่อง
รูปแบบที่ 3 ทุนละไม่เกิน 450,000 บาท (สี่แสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ต้องตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล Science Citation Index/Science Citation Index Expanded (SCI) จำนวน 3 เรื่อง
โดยค่าตอบแทนการวิจัยจัดสรรได้ไม่เกินร้อยละ 40 ของทุนที่ได้รับหลังจากหักค่าครุภัณฑ์ (ถ้ามี) และต้องดำเนินโครงการวิจัยภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี