นักวิจัย มจพ. รับพระราชทานรางวัลผลงานวิจัย ประจำปี 2566 จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ฮิต: 310

 นักวิจัย มจพ. รับพระราชทานรางวัลผลงานวิจัย ประจำปี 2566 จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สำนักวิจัยฯ ร่วมแสดงความยินดีแก่นักวิจัย มจพ. ในโอกาสเข้ารับพระราชทานรางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย ประจำปี 2566 จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566”

 

ศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยฯ มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีแก่ ศาสตราจารย์ ดร.ดนัย ต.รุ่งเรือง และ รศ.ดร.นนชณัต ฉัตรภูติ ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)  ผู้สร้างผลงานวิจัย  เรื่อง "ระบบวัดทดสอบคุณลักษณะของสายอากาศขนาดใหญ่สำหรับระบบสื่อสารโทรคมนาคมสมัยใหม่" ในโอกาสเข้ารับพระราชทานรางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย ประจำปี 2566 จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” (Thailand Inventors’ Day 2023) ครั้งที่ 24 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566

 

ผลงานเรื่อง "ระบบวัดทดสอบคุณลักษณะของสายอากาศขนาดใหญ่สำหรับระบบสื่อสารโทรคมนาคมสมัยใหม่" (Characteristic Measurement System of Large Antennas for Modern Telecommunication Systems) เป็นผลงานของทีมนักวิจัย มจพ. ประกอบด้วย 

1) ศาสตราจารย์ ดร.ดนัย ต.รุ่งเรือง แห่งภาควิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม 

2) รองศาสตราจารย์ ดร.ฐิติพงษ์ เลิศวิริยะประภา แห่งภาควิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม 

3) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ แพบัว แห่งภาควิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม

4) รองศาสตราจารย์ ดร.นนชณัต ฉัตรภูติ แห่งภาควิชาฟิสิกส์อุตสาหกรรมและอุปกรณ์การแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์  

ซึ่งสามารถคว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานผลงานวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2566 รางวัลระดับดี สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยผลงานนี้เป็นการนำเสนอการพัฒนาระบบวัดทดสอบคุณลักษณะของสายอากาศขนาดใหญ่สำหรับระบบสื่อสารโทรคมนาคมสมัยใหม่ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เช่นจานสายอากาศในการสื่อสารผ่านดาวเทียม ระบบการสื่อสารคลื่นไมโครเวฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือหรือระบบไร้สายรุ่นที่ 5 (5G) ที่กำลังจะใช้งานจริงในอนาคตอันใกล้นี้ โดยทีมวิจัยได้เริ่มทำวิจัยและพัฒนาระบบวัดทดสอบคุณลักษณะของสายอากาศนี้ร่วมกับบริษัท อินโนว่า เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด (INNOVA TELECOMMUNICATION) ซึ่งเป็นผู้ผลิตมืออาชีพที่เชี่ยวชาญในนวัตกรรมสายอากาศและอุปกรณ์สถานีฐานของโทรศัพท์มือถือของประเทศไทยในโครงการส่งเสริมให้บุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาไปปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility) ประจำปีงบประมาณ 2562 และได้พัฒนาห้องทดสอบสายอากาศขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับระบบวัดทดสอบคุณลักษณะของสายอากาศที่ได้มาตรฐาน ซึ่งนอกจากการทดสอบคุณลักษณะของสายอากาศขนาดใหญ่จะช่วยควบคุมคุณภาพของการสื่อสารในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการยกระดับมาตรฐานการวัดทดสอบคุณลักษณะของสายอากาศของประเทศไทยขึ้นอีกระดับอีกด้วย

 

สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขอแสดงความชื่นชมและยินดีกับทีมวิจัยที่ทุ่มเทสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยจนเป็นที่ประจักษ์ในการคว้ารางวัลระดับชาติครั้งนี้