โครงการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย”
-
ฮิต: 8523
แนะนำการใช้งาน ESPReL ◊ ESPReL Checklist ◊ เแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ ◊ คู่มือการประเมินความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ
“โครงการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย” เป็นโครงการที่เกิดจากการดำเนินงานตามพันธกิจของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้เกิดมาตรฐานการดำเนินงานวิจัยในประเทศโดยการจัดทำและพัฒนามาตรฐานการวิจัยเฉพาะด้านในหลายๆ ด้าน เช่น มาตรฐานการวิจัยในคน มาตรฐานการวิจัยโดยใช้สัตว์ทดลอง และจริยธรรมในการดำเนินงานวิจัย สำหรับมาตรฐานห้องปฏิบัติการวิจัยนั้น วช. ให้ความสำคัญและมีนโยบายให้การสนับสนุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตผลงานที่มีคุณภาพขณะเดียวกับการทำให้เกิดความปลอดภัยกับนักวิจัยและสามารถรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานให้มีมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นและอาจใช้เป็นประโยชน์กับการบริหารการจัดสรรทุนวิจัยในอนาคตได้ด้วย
แนวคิดดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากห้องปฏิบัติการวิจัย ที่สนใจร่วมเป็นห้องปฏิบัติการนำร่อง 13 แห่ง ใน 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอโครงการต่อ วช. เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 และ วช. ได้เห็นชอบให้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) เป็นที่ปรึกษาการดำเนินงานในระยะเวลา 1 ปี (31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555)
ปัจจุบัน ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน โดยมีเครือข่ายวิจัยภูมิภาคด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ (Network) ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่
ภาคกลาง : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ภาคเหนือ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ภาคใต้ : มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
และมีมหาวิทยาลัยแม่ข่ายด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ (Node) 12 แห่ง ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและขยายผลให้เกิดการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการไปสู่มหาวิทยาลัยลูกข่ายและหน่วยงานที่สนใจครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและการพึ่งพาตนเองและประโยชน์ต่อการดำเนินงานด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการในอนาคต และเพื่อให้ที่ประชุมเครือข่ายเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ วช. จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ข่ายด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ 12 แห่ง ได้แก่
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- มหาวิทยาลัยนเรศวร
- มหาวิทยาลัยบูรพา
- มหาวิทยาลัยมหิดล
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
ร่วมกับมหาวิทยาลัยลูกข่ายทั่วประเทศ ได้แก่
- สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒประสานมิตร
- มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
- มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์
- มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
- มหาวิทยาลัยสยาม
ในการสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบการจัดการความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมโยงกับการจัดสรรทุนวิจัย พัฒนาบุคลากรสร้างความเข้มแข็งให้หน่วยงานเครือข่ายให้มีความสามารถจัดการตรวจสอบความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการและยกระดับให้ได้มาตรฐานสากล
นอกจากนี้ สํานักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ได้ดําเนินการส่งเสริมให้ห้องปฏิบัติการในสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย และห้องวิจัยของภาคเอกชน ทั่วประเทศยกระดับการจัดการความปลอดภัยด้านสารเคมีให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และได้ประกาศ “โครงการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย” (Enhancement of Safety Practice of Research Laboratory in Thailand หรือ ESPReL) ในปี พ.ศ. 2559 และมีกระบวนการส่งเสริมการยกระดับเป็นแผนปฏิบัติการปี พ.ศ. 2559 - 2663 โดยมีเป้าหมายที่จะมีการเสนอและประกาศเป็นพระราชบัญญัติความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2564
โดยในเบื้องต้น วช. ได้มีนโยบายให้นักวิจัยและคณาจารย์ที่มีความประสงค์ที่จะเสนอโครงการวิจัยจากงบวิจัยต่างๆ ของ วช. ต้องระบุที่ตั้งของห้องปฏิบัติการที่ใช้ทำวิจัยในโครงการ โดยห้องปฏิบัติการนั้นต้องได้รับการขึ้นทะเบียนตามมาตรฐาน ESPReL เพื่อประกอบการพิจารณาการให้ทุนวิจัย ดังนั้น ห้องปฏิบัติการจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้เองและเพื่อการยื่นขอรับทุนวิจัยในอนาคต
***รายละเอียดเว็บไซต์ ESPRel ของวช. http://esprel.labsafety.nrct.go.th/home.asp
แนะนำการใช้งาน ESPReL ◊ ESPReL Checklist ◊ เแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ ◊ คู่มือการประเมินความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ