ทุนอุดหนุนงานวิจัยเพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร ปีงบประมาณ 2565 มหาวิทยาลัยมหิดล

ฮิต: 1082

ทุนอุดหนุนงานวิจัยเพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร ปีงบประมาณ 2565

มหาวิทยาลัยมหิดล

สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ในการร่วมพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างผลงานที่มีคุณภาพและผลกระทบสูงต่อชุมชนและสังคม รวมทั้งเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และทรัพยากรวิจัย นำไปสู่การยกระดับความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรในระยะยาวอย่างยั่งยืน จึงเห็นควรจัดสรรทุนอุดหนุนงานวิจัยเพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีงบประมาณ 2565 ขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว

 

วัตถุประสงค์

เพื่อเป็นทุนอุดหนุนในการดำเนินงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง มจพ. กับเครือข่ายพันธมิตรที่ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัย เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทางการวิจัย 

 

คุณสมบัติของผู้เสนอขอรับทุน

1. เป็นข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานสมทบหรือลูกจ้างมหาวิทยาลัย

2. ต้องไม่อยู่ในระหว่างการลาศึกษาต่อ รวมทั้งการลาไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้

3. กรณีผู้ขอรับทุนยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ และระยะเวลาของสัญญาจ้างไม่ครอบคลุมระยะเวลาโครงการ ขอให้หน่วยงานต้นสังกัดมีเอกสารรับรองการติดตามผลงานมาพร้อมข้อเสนอโครงการ

4. ผู้รับทุนต้องไม่ติดค้างทุนจากเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย เงินงบประมาณแผ่นดิน หรือเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 ลงไป

 

กรอบการขอรับการสนับสนุน

กรอบวิจัยเป็นไปตามการกำหนดร่วมกันระหว่าง มจพ. กับเครือข่ายพันธมิตร

 

ลักษณะโครงการและแนวทางการตั้งงบประมาณ

1. หัวหน้าโครงการต้องเป็นบุคลากรของ มจพ. และมีคณะผู้ร่วมโครงการเป็นบุคลากรจากหน่วยงานเครือข่ายพันธมิตร ทั้งนี้โปรดแนบหนังสือสนับสนุนการดำเนินการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล โดยควรมีใจความสำคัญ ดังนี้ 

* สถาบันจะสนับสนุนนักวิจัยในสังกัดให้เข้าร่วมโครงการ

* อธิบายบทบาทหน้าที่ของนักวิจัยในสังกัดในการเข้าร่วมโครงการ และประโยชน์ที่นักวิจัย/สถาบันคาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้

* อนุญาตให้ทีมวิจัยในโครงการเข้าถึงห้องปฏิบัติการ เครื่องมือหรือข้อมูลเพื่อการวิจัย และสิ่งอำนวยความสะดวก (facilities) ต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินงานวิจัยภายใต้โครงการ

2. งบประมาณสนับสนุน 300,000-500,000 บาทต่อโครงการ และระยะเวลาการดำเนินงานไม่เกิน 1 ปี

3. ไม่สนับสนุนงบประมาณครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง

4. สนับสนุนค่าตอบแทนนักวิจัยไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณโครงการวิจัย 

 

การประเมินคุณภาพของข้อเสนอโครงการ

ข้อเสนอโครงการจะได้รับการประเมินคุณภาพโดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอโครงการ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในด้านคุณภาพทางวิชาการ การใช้งบประมาณ ผลลัพธ์และผลกระทบ ความเป็นไปได้ในการนำไปใช้ประโยชน์ โดยผู้ประเมินโครงการต้องไม่เป็นผู้ที่มีส่วนได้หรือส่วนเสียจากข้อเสนอโครงการ

 

การติดตามผลลัพธ์จากโครงการวิจัย

สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะมีการติดตามผลของโครงการที่ได้รับทุน ภายใน 1 ปี หลังจากสิ้นสุดโครงการ โดยหัวหน้าโครงการจะต้องส่งมอบผลผลิตตามที่ระบุในข้อเสนอโครงการ และบทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ (หรือตอบรับให้ตีพิมพ์) ในวารสารระดับนานาชาติในฐานข้อมูล Science Citation Index Expanded (SCIE) หรือ Scopus อย่างน้อย 1 เรื่องต่อโครงการ หรือ คำขอสิทธิบัตรที่ยื่น ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญาและได้เลขที่คำขอแล้ว และข้อเสนอโครงการวิจัยใหม่ที่ต่อยอดจากการสนับสนุนครั้งนี้ โดยเป็นโครงการวิจัยใหม่ที่เกิดจากการร่วมกันพัฒนาเพื่อขอทุนวิจัยที่ใหญ่ขึ้นซึ่งมีมูลค่าไม่น้อยกว่างบประมาณที่ขอทุนอุดหนุนงานวิจัยเพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร และยื่นไปยังแหล่งทุนเรียบร้อยแล้ว

 download แบบฟอร์ม (docx)